การอบรมมีขึ้นที่พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ลามาหลวงในวันที่ 22 มีนาคม 2565 มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 21 คน เป็นหญิงจำนวน 14 คนและชายจำนวน 7 คน และที่พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ละอูนในวันที่ 23 และ 29 มีนาคม 2565 มีผู้เข้ารับการอบรมเป็นจำนวนรวม 42 คน เป็นหญิงจำนวน 30 คนและชายจำนวน 12 คน
วัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ความเข้าใจ มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อการจัดการพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับเด็กที่เข้ามาใช้บริการ
บุคลากรที่ดูแลพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก ต้องมีคุณสมบัติ มีความรู้และเข้าใจธรรมชาติของเด็ก โดยวิทยากรให้สำรวจความรู้สึกของตนเองย้อนกลับไปเมื่อตอนยังเด็ก นึกถึงสิ่งที่ชอบที่สุด มานำเสนอให้เพื่อน ๆ ฟัง ซึ่งวิทยากรกล่าวสรุปจากคู่มือการอบรมและจากผู้ร่วมกิจกรรมว่า โดยธรรมชาติของเด็กทุกคนต้องการเล่น ชอบความสนุกสนาน และเด็กสามารถเรียนรู้ผ่านการเล่นต่าง ๆ
กิจกรรมต่อมา คือการสร้างการรับรู้แก่บุคลากรที่ทำงานกับเด็กถึงสิทธิพื้นฐานที่สำคัญ 4 ประการของเด็ก ซึ่งอยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติ และ ถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง อันประกอบด้วย สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม
จากนั้นให้แบ่งกลุ่มช่วยกันเลือกสถานที่ที่ควรจะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับเด็กในชุมชนว่าควรเป็นอย่างไร ซึ่งกลุ่มเสนอให้คำนึงถึงความสวยงาม มาตรฐานความปลอดภัยทางกายภาพและสุขภาพ และจบการอบรมด้วยการร่วมกันสร้างสรรค์หุ่นมือและของเล่นแล้วอธิบายประโยชน์ที่จะเกิดต่อการเรียนรู้สำหรับเด็กที่จะเข้ามาใช้พื้นที่สร้างสรรค์เด็กของโคเออร์ต่อไป
การอบรมหลักสูตรวิทยากรด้านการจัดการพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กที่บ้านแม่ลามาหลวง
การอบรมหลักสูตรวิทยากรด้านการจัดการพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กที่บ้านแม่ละอูน
การอบรมอาสาสมัคร เพื่อการจัดการเรียนรู้ในพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก ที่บ้านแม่ละอูน
|